ตำนานนายทวารชาวญี่ปุ่น เป็นคนแรกที่ได้ไปค้าแข้งยังยุโรป และลงเล่นกับทีมชาติมากที่สุดจนเป็นตำนานแดนปลาดิบ

โยชิคัตสึ คาวากูชิ ตำนานผู้รักษาประตูทีมชาติญี่ปุ่น เป็นนายทวารที่ถูกเรียกรับใช้ทีมชาติมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ปี 1997-2010 และเป็นนักผู้รักษาประตูชาวญี่ปุ่นคนแรกที่เล่นฟุตบอลอาชีพในสโมสรยุโรปด้วย

ย้อนไปเมื่อปี 1996 ในการแข่งขันฟุตบอลชายของ โอลิมปิกเกมส์ ที่นครแอตแลนตา ประเทศสหรัฐอเมริกา ทีมชาติญี่ปุ่นชุดโอลิมปิกเป็นหนึ่งใน 3 ตัวแทนของทวีปเอเชียและเข้ารอบมาในฐานะที่สองของรายการชิงแชมป์เอเชีย ทัพ “ซามูไรน้อย” เป็นหน้าใหม่แกะกล่องของฟุตบอลชายโอลิมปิกอย่างแท้จริง

ตัว คาวากูชิ เองเพิ่งจะอายุเพียง 19 ปีตอนที่ถูกเรียกมาติดทีมชาติเล่นรอบคัดเลือก ซึ่งในตอนนั้นเพิ่งจะจบ ม.ปลายได้เพียง 2 ปี และลงสนามใน เจลีก ให้กับ โยโกฮาม่า ฟลูเกล (โยโกฮาม่า เอฟ มารินอส ในปัจจุบัน) ได้เพียงฤดูกาลเดียว

อย่างไรก็ตามกุนซือของทีมชาติญี่ปุ่นในเวลานั้นอย่าง อากิระ นิชิโนะ ได้เชื่อมั่นในตัวนายด่านหนุ่มจากจังหวัดชิสุโอกะให้เป็นมือหนึ่งของญี่ปุ่น และนั่นถือเป็นการตัดสินใจที่สร้างสิ่งมหัศจรรย์ในการแข่งฟุตบอลโอลิมปิกครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของชาติ



โชคของญี่ปุ่นช่างไม่ดีเอาซะเลย เมื่อจับสลากมาอยู่ร่วมสายกับทีมชาติไนจีเรีย, ทีมชาติฮังการี และทีมชาติบราซิล ที่อุดมไปด้วยว่าที่สตาร์ดังระดับโลกทั้ง ริวัลโด้, โรนัลโด้(โล้นทองคำ), เบเบโต้ และ โรแบร์โต้ คาร์ลอส และในเกมแรกทีมชาติญี่ปุ่นต้องเจอกับขุนพล “เซเลเซา” ซะด้วย

แม้ญี่ปุ่นชุดใหญ่เพิ่งจะสร้างประวัติศาสตร์คว้าแชมป์เอเชียครั้งแรกได้เมื่อปี 1992 แต่มันแทบไม่มีค่าเลยในระดับโลก 23 ผู้เล่นชุดนั้นไม่มีใครเล่นในยุโรปด้วยซ้ำ โควตาอายุเกินก็ไม่มี ใครคิดเห็นก็ว่าญี่ปุ่นโดนเละเทะแน่นอน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใกล้เคียงกับสิ่งที่คิดแม้แต่นิดเดียว

สักขีพยานกว่า 46,000 คนที่สนาม โอเรนจ์ โบวล์ ที่ไมอามี่ คาดหวังจะได้เห็นหนังบู๊ที่บราซิลปูพรมบุกใส่ญี่ปุ่นแบบไม่ไว้หน้า ซึ่งรูปเกมก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ แต่เหลือเชื่อว่าโอกาสยิงกว่า 28 ครั้งในเกมนั้น ไม่สามารถผ่านมือของ คาวางูชิ ได้เลย หนำซ้ำยังพลาดท่าเสียประตูให้ญี่ปุ่น

กลับมากับผู้รักษาประตูรายนี้ คาวากูชิ กลับมาลงสนามให้ โยโกฮาม่า จนถึงปี 2001 ก่อนจะตัดสินใจย้ายไปค้าแข้งต่างแดนในเกาะอังกฤษกับ พอร์ทสมัธ ซึ่งได้เลื่อนชั้นไปเล่นในลีกสูงสุดพอดี อย่างไรก็ตามแม้จะลงสนามไป 12 นัดตลอด 2 ฤดูกาลกับ “ปอมปีย์” แต่ก็ถือว่าไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่นัก แต่การไปเล่นบน พรีเมียร์ลีก อังกฤษ ของ คาวากูชิ ถือเป็นการเปิดทางให้กับรุ่นน้องอีกหลายๆ คนที่จะตามเขาไปยุโรปในอีกหลายๆ ปีต่อมา

คาวากูชิ ขึ้นชื่อในเรื่องของการเซฟจุดโทษเป็นอย่างยิ่ง มีหลายครั้งที่เมื่อถึงช่วงดวลเป้าหาผู้ชนะ ญี่ปุ่นมักผ่านไปได้ด้วยการเซฟของนายด่านเจ้าของความสูง 180 เซนติเมตร ในเอเชี่ยนคัพ 2004 คาวากูชิ เซฟถึง 2 จุดโทษช่วยให้ทีมชาติญี่ปุ่นเอาชนะจอร์แดน คว้าแชมป์ เอเชียน คัพ ไป

บทบาทของเขากับทีมชาติเริ่มหายไปหลังจากการแจ้งเกิดของ เออิจิ คาวาชิม่า นายด่านรุ่นน้องที่รูปร่างดีกว่า และโตมาในยุคที่ญี่ปุ่นพัฒนาขึ้นสู่อันดับต้นๆของโลกฟุตบอล เขามีความแข็งแกร่งอย่างเต็มตัว คาวากูชิ ติดทีมชาติครั้งสุดท้ายในฐานะมือกาวสำรองร่วมกับคู่แข่งตลอดกาลอย่าง เซโกะ นาราซากิ ในฟุตบอลโลก 2010 ติดธงรวมทั้งสิ้น 116 นัดมากที่สุดเป็นอันดับ 5 ของทัพ ยาตะการาสุ



คาวากูชิ ออกจาก จูบิโล่ อิวาตะ ใน เจลีก วัน เมื่อปี 2013 และไม่สามารถหาสโมสรในลีกสูงสุดได้อีกด้วยวัยใกล้เลขสี่เต็มที แม้ว่าตัว คาวากูชิ จะมีความกระหายเหมือนที่เขาเฝ้าเสาให้ทีมชาติ แต่ร่างกายของเขาไม่พร้อมสำหรับลีกสุงสุดอีกต่อไป อย่างไรก็ตามด้วยชื่อเสียงของเขา ทำให้มีทีมเล็กในลีกรองสนใจดึงไปร่วมทีม

เขาย้ายไปร่วมทัพ เอฟซี กิฟุ ใน เจลีก ทรี และ เอสซี ซากามิฮาระ ซึ่งเป็นสโมสรสุดท้ายในอาชีพของเขา การใช้ชีวิตในลีกรองทำให้ คาวากูชิ ได้พบกับเด็กและเยาวชนในพื้นที่ห่างไกล ตำนานของเขาที่เคยขีดเขียนไว้สมัยรับใช้ชาติสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนในจังหวัดเล็กอย่างกิฟุ ซึ่งสิ่งนี้ทำให้เขามีความสุขกับปลายทางชีวิตการค้าแข้ง

แม้จะเป็นนายประตูระดับตำนานของทีมชาติญี่ปุ่น แต่กับเส้นทางโค้ชแล้วยังถือว่าใหม่มาก แต่โค้ชใหญ่ของชุดปรีโอลิมปิก ฮาจิเมะ โมริยาสุ มองว่าชื่อเสียงของ คาวากูชิ นั้นเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับนายประตูวัยหนุ่มได้

เกียรติประวัติ
โยโกฮาม่า เอฟ มารินอส
เจ1 ลีก: 1995, 2000
พอร์ตสมัธ
ฟุตบอลลีกดิวิชั่น 1: 2002–03
จูบิโล อิวาตะ
เจ. ลีก คัพ: 2010
ทีมชาติญี่ปุ่น
เอเอฟซี เอเชียน คัพ: 2000, 2004
เอเอฟซี-โอเอฟซี ชาลเลนจ์ คัพ: 2001
อัฟโฟร-เอเชียนคัพออฟเนชั่นส์: 2007