โลธาร์ มัทเธออุส แข้งในตำนานทีมอินทรีเหล็ก เยอรมนี “ฉายา ลิเบโร่คนสุดท้าย”

นี่คือเรื่องราวความแตกต่างหนึ่งเดียวของยุคสมัย ชายผู้ได้ฉายาว่า “ลิเบโร่คนสุดท้าย” ความเก่งกาจในวัยเด็กของ โลธาร์ มัทเธออุส ผลักดันเขาให้ไปไกลกว่าเดิม ในปี 1979 โบรุสเซีย มึนเชนกลัดบัค ติดต่อเข้ามาและเขาก็ย้ายทีมตอนอายุ 18 ปี การได้เล่นให้กับทีมระดับแถวหน้าของประเทศทำให้เขาเห็นเส้นทางชัดขึ้น จากที่เคยเล่นฟุตบอลเพื่อจะได้แข่งขันในลีกสูงสุด กลับกลายเป็นความหวังที่จะกลายเป็นหนึ่งในนักเตะที่ดีที่สุดของโลก

ช่วงที่ได้เล่นกับ กลัดบัค เขาไม่ได้ประสบความสำเร็จอะไรในฐานะทีมมากมายนัก เพราะทีมนี้ถือว่าเป็นทีมระดับปานกลางของลีก แต่ในแง่บุคคลแล้วต้องบอกว่าเจิดจรัสสุด ๆ ภายใต้การทำงานกับตำนานกุนซือที่ได้ชื่อว่ามีความเป็น “Leader” มากที่สุดอย่าง อูโด ลัทเท็ก ซึ่งเป็นคนที่เห็นความสามารถของ มัทเธอุส ที่แท้จริง เขาเชื่อว่า นักเตะที่มีพลัง, ความกระหาย, ไหวพริบ, เทคนิค และสามารถเล่นได้ 2 เท้าอย่าง มัทเธอุส จะมีประโยชน์กว่าการยืนเป็นกองหน้าเพียงอย่างเดียว

หากถอยเขาลงมาเป็นคนที่อ่านเกมและมีส่วนร่วมกับเกมยิ่งกว่านั้น ดังนั้น ลัทเท็ก จึงจับเอา มัทเธอุส มาเล่นในตำแหน่งที่ว่ากันว่าเป็น “เยอรมันจ๋า” มากที่สุด นั่นคือตำแหน่ง ลิเบโร (ภาษา อิตาลี แปลว่า “อิสระ”) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เคยได้รับบทบาทโดยนักเตะเยอรมันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล ฟรานซ์ เบ็คเคนบาวเออร์ นั่นเอง ตำแหน่ง ลิเบโร คือตำแหน่งที่ทุกวันนี้แทบไม่มีให้เห็นแล้ว หากจะอธิบายให้เห็นภาพคือ “ตัวรับอิสระ” หรือตำแหน่ง “สวีปเปอร์” คงจะไม่ผิดนัก





เขาจะยืนอยู่หลังกองหลังตัวสุดท้าย และภารกิจของ ลิเบโร คือการเป็นหัวใจของแผงเกมรับในยามที่ทีมไม่มีบอล และหลังจากที่ได้กลับมาครอบครองบอลแล้ว ลิเบโร ก็จะมีหน้าที่สร้างสรรค์เกมรุกด้วยตัวเองด้วย หากจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัด ๆ โดยอิงกับฟุตบอลยุคปัจจุบันอีกสักนิดคือ หากทีมไม่มีบอล ลิเบโร ต้องทำตัวเหมือนกับ เฟอร์กิล ฟาน ไดจ์ค ที่จัดการแผงหลังในทีมให้ลงตัว และเมื่อทีมได้บอลเขาจะกลายเป็น บรูโน่ แฟร์นันด์ส ที่จะต้องเป็นคนคอยออกบอล ตัดสินแนวทางการเล่นเกมบุกให้กับทีมในแต่ละครั้ง

ให้ลองนึกภาพเอาว่า มัทเธอุส ต้องเล่นประมาณไหม ถึงจะทำ 2 บทบาทนั้นในเกมเดียวได้ ความสมบูรณ์แบบเกินไป ทำให้ มัทเธอุส ต้องเข้ามารับหน้าที่ ลิเบโร ไปโดยปริยาย 5 ปี กับ กลัดบัค ผลงานของ มัทเธอุส ชัดเจนมากในแง่ของการเป็นผู้นำในเกมรับ และเป็นคนที่จบกสอร์ได้ดี 51 ประตูจาก 200 นัด มันชัดเจนว่าสถิตินี้ไม่น่าใช่สถิติของกองหลังอย่างแน่นอน ความกระหายนี้ ทำให้หลังผ่านไป 5 ปีที่ไปไม่ถึงตำแหน่งแชมป์ซักที (ผลงานดีที่สุดคือ อันดับ 3 ฤดูกาล 1983-84)

มัทเธอุส รู้สึกว่าช่วงเวลาของเขากับ กลัดบัค จบลงแล้ว และเขาต้องการไปอยู่กับทีมที่ใหญ่ขึ้น เก่งกว่า และทะเยอทะยานกว่า ที่สำคัญคือเหมาะกับตัวเขามากกว่า นั่นคือ บาเยิร์น มิวนิค ที่กำลังสร้างยุคสมัยใหม่ ความสุดยอดของ มัทเธอุส เป็นไปจริงตามที่เขาว่า เขายิงประตูกระจายไม่ว่าจะกับสโมสรไหน หลังคว้าแชมป์กับ บาเยิร์น เขาย้ายไป อินเตอร์ ในปี 1988 และหลังจากนั้นอีก 2 ปี เขากลายเป็นนักเตะที่เก่งที่สุดในโลก ที่การันตีด้วยรางวัล บัลลงดอร์ ปี 1990 หากมองในแง่ของความสำเร็จนั้น โลธาร์ มัทเธออุส อาจจะยังเทียบกับนักเตะในยุคใหม่ ๆ ผู้คว้าทุกแชมป์ที่ลงแข่งขันอย่าง ชาบี เอร์นานเดซ, อันเดรียส อิเนียสต้า หรือแม้กระทั่ง เซร์คิโอ รามอส ไม่ได้





เหตุผลก็เพราะว่าเขาไม่เคยคว้าแชมป์ ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก (หรือ ยูโรเปียน คัพ ในอดีต) เลยสักสมัย นั่นอาจจะทำให้ชื่อเสียงและความยิ่งใหญ่ของเขาถูกลดทอนลงไปบ้างเมื่อกาลเวลาผ่านไป สำหรับ มัทเธอุส เขายืนยันว่าเรื่องนี้ไม่ได้สำคัญอะไรกับเขามากนัก แม้การไม่ได้แชมป์ยุโรประดับสโมสรอาจจะนำมาซึ่งความผิดหวัง (ใกล้เคียงที่สุดคือ รองแชมป์ฤดูกาล 1998-99 ที่โดน แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ยิง 2 ประตูช่วงทดเจ็บแซงคว้าแชมป์) แต่ที่สุดแล้วเขาก็มองโลกในแง่ดีและมองว่าชีวิตคนเราบางครั้งก็ต้องแพ้กันบ้าง ท้ายที่สุดแล้ว มัทเธอุส ได้ทำในสิ่งที่หลายคนทำไม่ได้เช่นกัน เขาเป็นนักฟุตบอลผู้กวาดแทบทุกรางวัลในฐานะทีมก็จริง แต่ถ้าในฐานะส่วนตัวแล้ว มัทเธอุส คือผู้ชนะอย่างแท้จริง เขาได้ทั้งบัลลงดอร์ รางวัลนักเตะยอดเยี่ยมของฟีฟ่า คว้าแชมป์ยูโรกับทีมชาติตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น และคว้าแชมป์โลกในฐานะที่ตัวเองเป็นกัปตันทีม

เกียรติประวัติ
บาเยิร์น มิวนิค
บุนเดสลีกา: 1984–85, 1985–86, 1986–87, 1993–94, 1996–97, 1998–99, 1999–2000
เดเอฟเบโพคาล: 1985–86, 1997–98
เดเอฟเบ-ลิกาโปคาล: 1997, 1998, 1999
เดเอฟเบ-ซูเปอร์คัพ: 1987
ยูฟ่า คัพ : 1995–96
รองแชมป์ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก: 1986–87, 1998–99
อินเตอร์ มิลาน
กัลโช่: 1988–89
ยูฟ่า คัพ : 1990–91
เมโทรสตาร์ส
แชมป์เมเจอร์ดิวิชั่นตะวันออก: 2000
ทีมชาติเยอรมนี
ฟุตบอลโลก: 1990
แชมป์ยุโรปยูฟ่า: 1980
ยูเอส คัพ: 1993