ตำนานปีกซ้าย ลิเวอร์พูล ที่ทำประตูได้มากกว่ากองหน้าบางทีมซะอีก

ตำนานนักเตะ จอห์น บาร์นส์ ยุคปี 1981-1999 ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในอาชีพค้าแข้งกับ ลิเวอร์พูล บาร์นส์ มีชื่อเต็มว่า จอห์น ชาร์ลส์ ไบรอัน บาร์นส์ เกิด 7 พฤศจิกายน 1963 เมือง คิงส์ตัน, จาไมกา ปัจจุบันเขาทำงานเป็นนักวิจารณ์และผู้สันทัดกรณีให้กับ อีเอสพีเอ็น และ ซูเปอร์ สปอร์ต

บาร์นส์ ประสบความสำเร็จมากในช่วงปี 1981 และปี 1987 กับ วัตฟอร์ด เขาสร้างชื่อจนโด่งดังกับทีมนี้ โดยลงสนามช่วยต้นสังกัด วัตฟอร์ดไปทั้งสิ้น 233 นัด ยิงไป 65 ประตู ซึ่ง บาร์นส์ เขาเข้ามาอยู่กับ วัตฟอร์ด ในขณะที่เขากำลังลงสนามให้กับ มิดเดิ้ลเซ็กซ์ ลีก คลับ ซูดบิวรี่ คอร์ต (ทีมนอกลีก)

และหลังจากที่ประสบความสำเร็จจากเกมในชุดสำรองของ วัตฟอร์ด เขาก็ได้เซ็นสัญญาเป็นนักเตะอาชีพ ในวันที่ 14 กรกฎาคม 1981 ด้วยวัย 17 ปี ซึ่งมี เกรแฮม เทย์เลอร์ รับหน้าที่เป็นผู้จัดการทีมในเวลานั้น และ “แตนอาละวาด” ก็ใช้เวลาเพียงแค่ 6 ปีในการทำทีมจากดิวิชั่น 4 จนได้เลื่อนชั้นสู่ลีกสูงสุด

บาร์นส์ ในฐานะนักเตะวัตฟอร์ด ได้รับการเลื่อนชั้นร่วมกับคู่แข่งอย่าง ลูตัน ทาวน์ โดย บาร์นส์ เขาพาทีมทำอันดับอยู่บนหัวตารางเมื่อสิ้นสุดฤดูกาล 1981-82 จนสุดท้ายก็สามารถพาทีมจบด้วยอันดับที่ 2 ของลีก และด้วยความบังเอิญที่ ลิเวอร์พูล ก็เป็นแชมป์ลีกดิวิชั่น 1 ด้วยเช่นกัน ในปี 1984 วัตฟอร์ด สร้างประวัติศาสตร์ เมื่อสามารถเอาชนะ เอฟเวอร์ตัน 2-0 ในศึก เอฟเอ คัพ รอบชิงชนะเลิศ โดยที่พวกเขาถูกมองว่าเป็นทีมม้านอกสายตา

ต่อมาในปี 1987 พวกเขาทะลุเข้าไปถึงรอบรองชนะเลิศอีกครั้ง แต่สุดท้ายก็ไปไม่ถึงฝัน เมื่อพวกเขาพ่ายให้กับ “ไก่เดือยทอง” ท็อตแน่ม ฮ็อทสเปอร์ และสุดท้าย บาร์นส์ ก็ตกเป็นจุดสนใจของบรรดาทีมใหญ่ ๆ ที่ต้องการจะได้ตัวเขาไปร่วมทีม เพราะเจ้าตัวเล่นได้โดดเด่นมากในรังแตน

จนในที่สุด ด้วยผลงานอันยอดเยี่ยม เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 1987 บาร์นส์ ตัดสินใจเก็บข้าวของย้ายออกจาก วัตฟอร์ด ไปร่วมทัพ “หงส์แดง” ลิเวอร์พูล ภายใต้การทำทีมของ เคนนี่ ดัลกลิช ด้วยค่าตัว 900,000 ปอนด์ (ประมาณ 48.5 ล้านบาท) ในยุคนั้นถือว่าสูงมากๆกับค่าตัว

หลังจากที่เขาลงสนามรับใช้ “เดอะ ฮอร์เน็ตส์” 233 เกม และยิงไปทั้งสิ้น 65 ประตู เขาย้ายเข้ามาสู่ถิ่น แอนฟิลด์ พร้อมกับเพื่อนร่วมทีมชาติของเขาอย่าง ปีเตอร์ เบียร์ดสลี่ย์ และได้ประสานงานกับ จอห์น อัลดริดจ์, เรย์ ฮิวจ์ตัน และ เอียน รัช กลายเป็นสูตรสำเร็จแผงตัวรุกที่น่ากลัวมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของ ลิเวอร์พูล ในยุคนั้นเลยทีเดียว

บาร์นส์ ลงสนามนัดแรกในสีเสื้อแดงเพลิงพร้อมกับ เบียร์ดสลี่ย์ ในเกมลีกที่เอาชนะ อาร์เซน่อล 2-1 ณ สนาม ไฮบิวรี่ ในปี 1987 เขาสามารถทำประตูแรกให้กับ ลิเวอร์พูล ได้สำเร็จ หลังจากที่ผ่านไปรวมเดือน เมื่อวันที่ 12 กันยายน ในเกมที่เอาชนะ อ็อกฟอร์ด ยูไนเต็ด 2-0 ที่สนาม แอนฟิลด์

ฤดูกาลแรกของเขาที่ แอนฟิลด์ เป็นปีที่ ลิเวอร์พูล ได้แชมป์ลีกสูงสุด ด้วยการออกสตาร์ทแบบไร้พ่ายตลอด 29 เกม และจบฤดูกาลด้วยการแพ้แค่ 2 ครั้งเท่านั้น ซึ่งในฤดูดาลนั้นเอง เขาเคยถูกเหยียดเชื้อชาติจากแฟนบอล เอฟเวอร์ตัน ในเกม เมอร์ซี่ย์ไซด์ ดาร์บี้ ที่สนาม แอนฟิลด์

บาร์นส์ ซัดไป 15 ประตูในลีกฤดูกาลแรกของเขากับ ลิเวอร์พูล เป็นอันดับสองรองจาก จอห์น อัลดริดจ์ เท่านั้น เขาได้รับคะแนนโหวตอย่างท่วมท้นให้ได้รับรางวัล ผู้เล่นยอดเยี่ยมแห่งปีจากสมาคมนักฟุตบอลอาชีพ

ในเดือนเมษายน ปี 1989 หลังจากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่ฮิลส์โบโร่ บาร์นส์ ได้เข้าร่วมพิธีศพเหยือผู้เสียชีวิต และเยี่ยมผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บที่โรงพยาบาลอีกด้วย โดยที่เขาขอถอนตัวจากเกมกระชับมิตรของทีมชาติอังกฤษ เพื่อมาเยี่ยมแฟน ๆ โดยเฉพาะ

ในปี 1990 บาร์นส์ คว้าแชมป์ให้กับ ลิเวอร์พูล ได้สำเร็จ จากการยิง 22 ประตูในลีก ด้วยตำแหน่งปีกซ้าย แม้กระทั่ง เอียน รัช ยังยิงประตูได้น้อยกว่าเขาถึง 4 ลูกเลยทีเดียว บาร์นส์ ถูกโหวตให้เป็นนักเตะยอดเยี่ยมแห่งปีจากผู้สื่อข่าวกีฬาฟุตบอล และได้รับความคาดหวังจาก บ็อบบี้ ร็อบสัน ผู้จัดการทีมชาติอังกฤษ ให้เป็นกุญแจสำคัญในการพาทีมลุยฟุตบอลโลกปี ’90 ที่อิตาลี

 

โดยเพื่อนร่วมทีมอย่าง ปีเตอร์ เบียร์ดสลี่ย์ ได้กล่าวถึงเขาหลังสิ้นสุดฤดูกาลในทศวรรษปี 1980 ว่า “บาร์นส์ เป็นผู้เล่นที่ดีที่สุด ที่เคยเล่นด้วยกันมา แถมยังชมอีกว่า บาร์นส์ อาจจะเป็นนักเตะที่ดีที่สุดในโลกก็ได้ในเวลานี้”

ในปี 1992 ลิเวอร์พูล ได้เถลิงแชมป์ เอฟเอ คัพ อีกครั้ง แต่ บาร์นส์ พลาดการลงสนามในเกมชิงชนะเลิศ เนื่องจากอาการบาดเจ็บที่เอ็นร้อยหวาย เขาลงเล่นในลีกแค่ 12 เกมเท่านั้น และยิงไปได้แค่ประตูเดียว จึงทำให้ “หงส์แดง” จบอันดับ 6 ในลีก

ปี 1997 หลังจากผ่านไป 10 ปี เขาลงสนามไปทั้งสิ้น 407 เกม ยิงรวมกัน 108 ประตู และคว้า 4 ถ้วยใหญ่มาครอบครอง บาร์นส์ กำลังจะหมดสัญญาและกลายเป็นผู้เล่นฟรีเอเย่นต์ และด้วยอาการบาดเจ็บออดๆแอดๆในระยะหลัง ทำให้ ลิเวอร์พูล ตัดสินใจไม่ต่อสัญญากับ บาร์นส์ ออกไปอีก

บาร์นส์ ถูกดึงตัวมาอยู่กับ นิวคาสเซิ่ล โดย เคนนี่ ดัลกลิช อดีตเพื่อนร่วมทีมและผู้จัดการทีมคนปัจจุบันของ นิวคาสเซิ่ล ยูไนเต็ด ในฤดูกาล 1997-98 บาร์นส์ ถูกดันขึ้นไปเล่นเป็นศูนย์หน้า แทนที่ อลัน เชียเรอร์ ที่ได้รับบาดเจ็บยาวจนจบฤดูกาลนั้น

การขาดหายไปของ เชียเรอร์และเฟอร์ดินานด์ จึงทำให้ ดัลกลิช ตัดสินใจดึงตัวอดีตเพื่อนร่วมทีมอย่าง เอียน รัช และเพื่อนร่วมงานทีมชาติอังกฤษอย่าง สจ๊วต เพียร์ซ เข้ามาแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

แม้ว่า นิวคาสเซิ่ล จะทำผลงานได้ดีด้วยการเป็นรองแชมป์ เมื่อฤดูกาลก่อน แต่ในปี 1998 พวกเขาจบที่อันดับ 13 ในลีก และได้เข้าชิงชนะเลิศ เอฟเอ คัพ ซึ่งเป็นครั้งที่ 5 ของ บาร์นส์ ที่ได้เข้าชิงถ้วยรายการนี้ อย่างไรก็ตาม นิวคาสเซิ่ล ไม่สามารถต้านทานความเก่งกาจของ อาร์เซน่อล ได้ และแพ้ไป 0-2 จนทำให้ทีมตัดสินใจปลด เคนนี่ ดัลกลิช ออกจากตำแหน่ง

ในฤดูกาล 1998-1999 บาร์นส์ ออกจากทีมและย้ายไปร่วมทัพ ชาร์ลตัน แอธเลติก ที่กำลังเลื่อนชั้นขึ้นมา ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 1999 แบบไร้ค่าตัว

ด้วยอายุอานามและฟอร์มที่ตกลงไปของ บาร์นส์ แถมมีอาการบาดเจ็บรบกวนในระยะหลัง เขาไม่สามารถช่วยทีมให้รอดจากการตกชั้นไปได้ ความพ่ายแพ้ในวันสุดท้ายของฤดูกาล ทำให้ ชาร์ลตัน ล่วงตกชั้นกลับไปเล่นในดิวิชั่น 1 และ บาร์นส์ ก็ประกาศแขวนสตั๊ดทันที หลังค้าแข้งยาวนานกว่า 20 ปี

เกียรติประวัติ
ลิเวอร์พูล
– แชมป์ ดิวิชั่น หนึ่ง 2 สมัย : (1987-88, 1989-90)
– แชมป์ เอฟเอ คัพ 2 สมัย : (1988-89, 1991-92)
– แชมป์ ลีก คัพ 1 สมัย : (1994-95)
– แชมป์ เอฟเอ ชาริตี้ ชิลด์ 3 สมัย : (1988, 1989, 1990)
เกียรติประวัติส่วนตัว
– นักเตะยอดเยี่ยมแห่งปีของพีเอฟเอ 1 สมัย : (1988)
– นักเตะยอดเยี่ยมแห่งปีจากผู้สื่อข่าวกีฬาฟุตบอล 2 สมัย : (1988, 1990)
– ทีมยอดเยี่ยมแห่งปีของพีเอฟเอ 3 สมัย : (1987-88, 1989-90, 1990-91)
– ดาวซัลโวของดิวิชั่นหนึ่ง 1 สมัย : (1998)
– เข้าร่วมหอเกียรติยศฟุตบอลอังกฤษ : (2005)
ผู้จัดการทีม
จาไมกา
แคริบเบียน คัพ : 2008

credit :

images credit : https://www.skysports.com/

images credit : https://blog.redsbet.com/

images credit : https://www.liverpoolecho.co.uk/

images credit : https://www.dailymail.co.uk/

images credit : https://theredmentv.com/

images credit : https://www.thisisanfield.com/

images credit : https://www.lcfc.com/

images credit : https://whatculture.com/

images credit : https://www.90min.com/